ขายสารเคมี สารเคมี บริษัทขายสารเคมี

เลือกเกรดของสารเคมี

2021-04-23 14:11:50

การพิจารณาเลือกเกรดของสารเคมีเพื่อเตรียมสารละลายใช้ในห้องปฏิบัติการ
 
        การพิจารณาเลือกเกรดของสารเคมีที่จะใช้ในห้องปฏิบัติการ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และประเภทของสารละลายที่จะเตรียม โดยทั่วไปประเภทของสารละลายที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ จะมี 4 ประเภท ได้แก่
 
        1) สารละลายมาตรฐาน คือ สารละลายที่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอน และสามารถคำนวณความเข้มข้นจากการเตรียม หรือการเทียบมาตรฐาน สารละลายมาตรฐาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ (primary standard) สารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ (secondary standard) และสารละลายมาตรฐานตติยภูมิ (tertiary standard) ส่วนสารละลายมาตรฐานสำหรับการปรับตั้งเครื่องมือแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ สารละลายมาตรฐานเข้มข้น และสารละลายมาตรฐานสำหรับใช้งาน (working standard)
 
                1.1 สารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ (primary standard) หมายถึงสารละลายที่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอน โดยการคำนวณจากน้ำหนักของสารมาตรฐานและปริมาตรของสารละลายที่เตรียม การเตรียมสารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ ต้องเตรียมจากสารมาตรฐานปฐมภูมิ หากสารมาตรฐานเป็นของแข็ง เตรียมโดยวิธีชั่งน้ำหนักที่ถูกต้องโดยใช้เครื่องชั่งที่สอบเทียบแล้วค่าความไม่แน่นอนของการชั่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับ เครื่องแก้วที่ใช้ต้องเป็นเครื่องแก้ว class A ที่ผ่านการสอบเทียบ ถ้าสารมาตรฐานเป็นของเหลว ต้องเจือจางโดยใช้เครื่องแก้ว class A ที่ผ่านการสอบเทียบ และคำนวณหาค่าความเข้มข้น โดยไม่ต้องเทียบมาตรฐานกับสารละลายหรือวิธีการใด สารละลายมาตรฐานปฐมภูมินี้ต้องมีค่าที่เชื่อถือได้ เพราะต้องถ่ายทอดไปยังสารละลายมาตรฐานทุติยภูมิและผลการวัด ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เตรียมสารละลายต้องมีทักษะและความสามารถในการเตรียม
 
               1.2 สารละลายมาตรฐานทุติยภูมิ (secondary standard) และสารละลายมาตรฐานตติยภูมิ (tertiary standard) เป็นสารละลายที่ไม่ทราบความเข้มข้นที่แน่นอนจากการเตรียมโดยตรง เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในการเตรียมสารละลายไม่มีสมบัติเป็นสารมาตรฐานปฐมภูมิจึงไม่ทราบค่าที่ถูกต้อง การหาความเข้มข้นที่ถูกต้องทำโดยการเทียบมาตรฐานกับสารละลายมาตรฐานปฐมภูมิ
 
        2) สารละลายรีเอเจนต์และอินดิเคเตอร์ เป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นโดยประมาณ ส่วนมากเป็นหน่วยร้อยละ การเตรียมสารละลายไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความแม่นสูง
 
        3) สารละลายบัฟเฟอร์ เป็นสารละลายที่มีค่าพีเอชคงที่ หรือเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเติมน้ำกลั่น หรือกรด หรือเบสลงไปเล็กน้อย สารละลายบัฟเฟอร์เตรียมจากกรดอ่อนกับเกลือของกรดอ่อน การเตรียมสารละลายบัฟเฟอร์ต้องทราบวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน เช่นสารละลายบัฟเฟอร์ที่ใช้สำหรับปรับพีเอช จะเตรียมเหมือนกับการเตรียมรีเอเจนต์ แต่ถ้าใช้สำหรับปรับตั้งเครื่องวัดพีเอช ต้องเตรียมเหมือนกับการเตรียมสารละลายมาตรฐาน
 
         4) สารละลายที่ใช้งานทั่วไป เช่น สารละลายสำหรับล้างทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องแก้ว สารละลายเหล่านี้เตรียมโดยใช้เครื่องชั่งที่มีความสามารถในการอ่านเป็นกรัม และเติมตัวทำละลายโดยใช้กระบอกตวง หรือปรับปริมาตรในภาชนะบรรจุ เช่น flask หรือ beaker
 
Credit; www.rbru.ac.th